ตัวหนังสือวิ่ง

ยินดีที่แวะมาเยี่ยม web blog ทักษะการจัดการความรู้ (KM) ทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้เรียนศตวรรษที่ 21 วิชาประวัติศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม ขอบคุณคุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา และเพื่อนๆ ที่แนะนำให้คำปรึกษา

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กำหนดการเรียนรู้ครั้งที่ 13

  • ความร่วมมือของไทยกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบทบาทของไทยในสังคมโลกปัจจุบัน                      

 อาเซียน เป็นเวทีความร่วมมือในการสร้าสันติภาพและความมั่นคงให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังสงครามเย็นอาเซียนได้หันมาเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งการเป็นประชาคมอาเซียนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งความเข้มแข็งของอาเซียน ทำให้กลายเป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งที่นับทวีบทบาทและความสำคัญต่อโลกมากยิ่งขึ้น
ความสำคัญของอาเซียนในเวทีโลก
          อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญ จากการที่ประชากรรวมกันแล้วเกือบ 600 ล้านคน ซึ่งเป็นทั้งตลาดที่มีกำลังสูง มีแนวโน้มขยายตัวได้มาก และเป็นตลาดแรงงานราคาถูกซึ่งนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเข้ามาลงทุนนานแล้ว ดังนั้นกล่าวโดยสรุปอาเซียนมีความสำคัญในเวทีโลก ดังนี้
          ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ อาเซียนเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของโลก โดยมีการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรจำนวนมาก เช่น ข้าวหอมมะลิ น้ำมันปาล์ม มะพร้าว เป็นต้น และยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ โดยเฉพาะทรัพยากรเชื้อเพลิงซึ่งมีมากในประเทศบรูไนและมาเลเซีย ส่งผลให้ประเทศมีฐานะทางเศรษฐกิจดี และไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาน้ำมันของโลกมากนัก ในพม่ามีแหล่งน้ำมันและแก็สธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งหลายประเทศ เช่น จีน อังกฤษ ไทย รวมถึงสหรัฐอเมริกา ได้เข้าไปลงทุนโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้นพยายามลงทุนในพม่าเพิ่มมากขึ้น แม้ในอดีตสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้คว่ำบาตรทหารพม่า แต่เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่ใช้ข้ออ้างด้านการเมืองในการคว่ำบาตรพม่าอีก พม่าจึงเป็นประเทศในอาเซียนที่กำลังได้รับความสนใจจากภายนอก และเปิดรับการลงทุนจากภายนอก
          นอกจากนี้อาเซียนยังมีประเทศสิงคโปร์ที่มีเศรษฐกิจที่มั่นคง และเป็นศูนย์กลางทางการเงินการลงทุนของภูมิภาค มีประเทศที่มีแรงงานมีคุณภาพ ค่าแรงไม่สูง เช่น ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มีประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีความใกล้ชิดกับประทศมุสลิมอื่นๆ ในโลก ซึ่งเป็นผลดีต่อการขยายตลาดของอาเซียนในประเทศมุสลิมทั่วโลก
          ความสำคัญทางการเมือง อาเซียนมีบทบาทด้านการเมืองในระดับโลก ในการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อสร้างสันติภาพของสหภาพของสหประชาชาติ เช่น การเข้าร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติในปฏิบัติการต่างๆ การให้ความร่วมมือช่วยเหลือผู้อพยพจากการขัดแย้งทางการเมือง เช่น ในสงครามเวียดนาม ในสงครามการเมืองกัมพูชา ผู้อพยพที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า เป็นต้น
บทบาทของอาเซียนในเวทีเศรษฐกิจโลก
          ในปัจจุบันอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีความโดดเด่นทางด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งการเป็นตลาดขนานใหญ่ที่เป็นทั้งแหล่งผลิตสินค้าของนักลงทุนภายในและภายนอกภูมิภาค และเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง
          เหตุการณ์ที่สะท้อนความสำคัญของเศรษฐกิจอาเซียนต่อเศรษฐกิจโลก คือ เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปลาย พ.ศ. 2554 ในภาคกลางของประเทศไทย ทำให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีโรงงานนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ทำให้การผลิตสินค้าหยุดชะงัก กระทบถึงสินค้าในตลาดโลก เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ในไทยถูกน้ำท่วมส่งผลให้ไม่มีรถยนต์เพียงพอต่อยอดสั่งจองทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โรงงานผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าถูกน้ำท่วม ทำให้ไม่มีชิ้นส่วนส่งโรงงานในประเทศฟิลิปปินส์ จนทำให้โรงงานฟิลิปปินส์ต้องปิดชั่วคราว คนงานชาวฟิลิปปินส์ในโรงงานหลายแห่งไม่มีงานทำ และไม่มีสินค้าส่งขายไปยังประเทศอื่นๆ ส่งผลให้สินค้าขาดตลาด
          ในปัจจุบันอาเซียนมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก โดยได้ดำเนินการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิก และกลุ่มประเทศนอกประเทศอาเซียน ดังนี้
การสร้างความร่วมมือในประเทศสมาชิกอาเซียน
          บทบาทของอาเซียนที่โดดเด่นในเวทีการค้าโลก คือ การเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อให้เกิดการรวมเป็นตลาดเดียวกัน โดยการเริ่มก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา เมื่อ พ.ศ. 2535 ซึงมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและอำนาจต่อรองของอาเซียน แต่อาเซียนมีเป้าหมายสูงสุด คือ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจ ทางการเงิน และการคลัง ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เพื่อรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายในอาเซียน และสร้างความเข้มแข็งแก่อาเซียนในเวทีเศรษฐกิจโลก
          นอกจาการตั้งอาฟตาแล้ว อาเซียนได้ร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มน้ำโขง คือ จีน พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย โดยรณรงค์ระหว่าง พ.ศ. 2543-2553 เป็นทศวรรษแห่งความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเพื่อสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ให้สอดคล้องกับตลาดอาเซียน
          การค้าในเส้นทางแม่น้ำโขงในปัจจุบันขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง สินค้าราคาถูกจากจีนทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมถูกนำเข้ามาขายในอาเซียนจำนวนมหาศาล ส่วนสินค้าจากอาเซียน เช่น ข้าว ผลไม้ท้องถิ่นโดยเฉพาะทุเรียน ลำไย เงาะ และผลไม้แปรรูปทั้งแบบแห้งและกระป๋องและถูกนำส่งไปส่งจำหน่ายในจีน
          อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวทางการค้าในกลุ่มแม่น้ำโขง คือ ปัญหาลักลอบค้ายาเสพติด สินค้าหนีภาษี และปัญหาอาชญากรรมจากความขัดแย้งของผู้มีอิทธิพล หรือพ่อค้าสิ่งเสพติด ซึ่งในระยะแรกที่การค้าขยายตัว ทางการจีนและอาเซียนยังไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเหล่านี้ แต่ปัจจุบันประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้เพิ่มมาตรการการรักษาความปลอดภัยในเส้นทางเดินเรือ การปราบปรามสิ่งเสพติดและสินค้าเถื่อนเพื่อทำให้การค้าในเส้นทางนั้นปลอดภัยและถูกกฎหมาย
          การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเพิ่มบทบาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในเวทีเศรษฐกิจโลก เพราะจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและต่อรองในเวทีการค้าโลก ขยายเศรษฐกิจของอาเซียน เพราะอาเซียนมีตลาดขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง ซึ่งทำให้เศรษฐกิจและนักลงทุนจากภายนอกภูมิภาคสนใจเข้ามาทำการค้าลงทุนกับอาเซียนมากขึ้น
การสร้างความร่วมมือกับประเทศหรือกลุ่มประเทศนอกอาเซียน
          อาเซียนมีการร่วมมือทางเศรษฐกิจกับภายนอกกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายการเชื่อมโยงกับประเทศหรือกลุ่มประเทศนอกอาเซียน เช่น
          ความร่วมมืออาเซียน+3 (ASEAN plus three) คือ ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
          ความร่วมมืออาเซียน+6 (เพิ่มอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ซึ่งจะส่งผลให้มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ใหญ่เป็น 1 ใน 4 ของโลก มีจำนวนประชากรมากเป็นครึ่งหนึ่งของโลก
          ความสัมพันธ์ในลักษณะของประเทศคู่เจรจากับอีก 9 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อินเดีย และรัสเซีย และมีความสำคัญร่วมมือกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
          การร่วมมือทางการค้ากับประเทศนอกกลุ่มอาเซียน จะทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนมีความแข็งแกร่ง เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจโลก ดังนี้
          อาเซียน สมาชิก 10 ประเทศ ประชากร 583 ล้านคน ( 9 % ของประชากรโลก )
          GDP 1,275 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 2 % ของ GDP โลก)
          ASEAN+3 ประชากร 2,068 ล้านคน ( 31 % ของประชากรโลก )
          GDP 9,901 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 18 % ของ GDP โลก)
          ASEAN+6 ประชากร 3,284 ล้านคน ( 50 % ของประชากรโลก )
          GDP 12,250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 22 % ของ GDP โลก )
ที่มา: กรมเจรจาระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
          ทั้งนี้อาเซียนส่งเสริมให้มีความร่วมมือทางการค้าเสรี และเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่สำคัญ และพัฒนาร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ นอกภูมิภาคในระดับที่กว้างขวางมากขึ้น เช่น การร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEF) เขตเศรษฐกิจระหว่างออสเตรเลียนิวซีแลนด์ และกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา นอกจากนี้ได้ยังมีการเจรจากับสหภาพยุโรปเรื่องการเปิดสัญญาการค้าเสรีประเทศสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ (ยกเว้น กัมพูชา ลาว และพม่า) เป็นต้น
          ดังนั้น หากการรวมกลุ่มภายในอาเซียนมีความเข้มแข็ง จะทำให้อาเซียนมีความพร้อมที่จะขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับกว้างขวางขึ้น และเป็นศูนย์กลางของการร่วมกลุ่มในภูมิภาคนี้ได้ในที่สุด
          การรวมกลุ่มประเทศยังเป็นผลดีต่อประเทศหรือประเทศในระยะยาว เพราะจะทำให้ไม่โดดเดี่ยวในยุคการค้าเสรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น